top of page

เมื่อสุขภาพจิต ไม่ใช่แค่เรื่องของคนไข้ แต่รวมถึงผู้ดูแลด้วย

อัปเดตเมื่อ 14 พ.ย. 2566

ไอติมเรนโบว์


เมื่อพูดถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เรามักจะนึกถึงตัวของคนไข้ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผบกระทบโดยตรง แต่มีคนอีกฝั่งนึงที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันนั่นคือ ผู้ที่ดูแลคนไข้ หรือที่เรียกว่า Caregiver เนื่องจากต้องได้รับความเครียด ความกดดัน หน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ต้องดูแลคนไข้ให้อยู่ในสภาวะที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในบางครั้งตัวคนไข้เองก็ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่กลายเป็นว่าคนที่ดูแลเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับผลกระทบอีกหลายๆอย่างไว้กับตนเอง ซึ่งผลกระทบที่ส่งผลต่อผู้ดูแล นั้นมีหลายด้าน เช่น ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่อาจทำให้ผู้ที่ดูแลนั้นป่วยไปด้วยอีกคนได้

หากมีใครคนหนึ่งที่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา หน้าที่ในการดูแลก็จะตกเป็นของคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งผู้ดูแลจะต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งของตน ไว้สำหรับดูแลผู้ป่วย ในผู้ป่วยบางโรคที่ตัวผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ผู้ดูแลอาจจะต้องใช้เวลาเกือบจะทั้ง 24 ชั่วโมง เพื่อคอยระมัดระวังอันตรายหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหากปล่อยให้อยู่คนเดียว เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย และอาจจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภาระหน้าที่ในส่วนนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ การใช้ระยะเวลาในการดูแลที่มาก ก็จะทำให้ผู้ดูแลนั้นรู้สึกว่าตนนั้นสูญเสียเวลาส่วนตัวในการที่จะไปทำกิจกรรมที่เขานั้นสนใจ ขาดโอกาสในการที่จะพัฒนาเติบโต ถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก ไม่ได้ออกไปพบเจอเพื่อนหรือคนรัก หรือในบางคนอาจถึงขั้นต้องลาออกจากงานเพื่อให้มีเวลามาดูแลผู้ป่วย แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธได้ และการดูแลก็จะเป็นการปฏิบัติงานในลักษณะคล้ายๆเดิมทุกวัน พอหลายวันเข้าอาจจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ เกิดเป็นความรู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกผิดที่ตนเองรู้สึกไม่ดี ที่คิดแบบนี้ จะทิ้งก็ทำไม่ได้ นานวันยิ่งเกิดการสะสมเป็นความเครียด ความกดดัน และอาจนำมาสู่ในเรื่องของโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้ ดังนั้นจึงควรมี วิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่ดูแล เพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยไปอีกคน อาจจะเริ่มต้นง่ายๆโดย

1) รับรู้ว่าความรู้สึกผิดนั้นเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเรารับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติจะสามารถทำให้เราสามารถจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น

2) มองในภาพรวม ถึงแม้ว่าในตอนนี้อาจจะมีความรู้สึกเครียด แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเครียดแบบนี้ตลอดไป ให้มุ่งความสนใจไปที่การที่เราเสียสละ ทำเพื่อคนที่เรารัก และมองว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ดีแล้ว

3) ยอมรับว่าการเป็นมนุษย์คนหนึ่งอาจจะมีจุดบกพร่อง ทำผิดพลาดไปบ้างไม่ใช่เรื่องแปลก ให้อภัยกับตัวเอง ควรมองและสนใจในส่วนที่เป็นข้อดีในตัวเรา และไม่ต้องสนใจในส่วนที่เป็นข้อเสียให้มากนัก

4) ลองหาเวลาให้กับตัวเอง ถึงแม้จะเป็นเสี้ยวเวลาเล็กๆ ก็ควรให้ตัวเองนั้นได้มีอิสระได้ใช้ชีวิตเป็นของตัวเองบ้าง ลองออกไปเดินเล่น ดื่มกาแฟ ดูหนัง ฟังเพลง การได้มีเวลาให้กับตัวเองจะทำให้มุมมองต่อความรู้สึกที่แย่ของเรานั้นดีขึ้น พอความรู้สึกดีขึ้นก็จะส่งผลดีในระยะยาวทั้งต่อผู้ดูแลและผู้ป่วยเอง

5) วางแผนกำลังคนในการดูแล อย่าให้ภาระตกไปอยู่ที่ใครเพียงคนเดียว ลองหาคนอื่นที่พอจะช่วยดูแลผู้ป่วยแทนตัวเราได้ เพื่อให้เราได้มีโอกาสได้พักบ้าง อาจจะเป็นญาติคนอื่นๆ หรือจัดจ้างผู้ที่มีความสามารถในการดูแลได้อย่างดีและถูกต้อง มาช่วยกันแบ่งเบาจะได้ไม่รู้สึกว่าหนักมากจนเกินไป

6) หาแหล่งสนับสนุนไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว หรือเพื่อน เพื่อให้คุณไม่รู้สึกว่าคุณอยู่ตัวคนเดียวในการรับภาระในการดูแลนี้ การได้พูดคุยหรือเล่าระบายความในใจก็สามารถช่วยให้ความทุกข์ อัดอั้นตันใจนั้นคลายลงได้

การได้ดูแลใครสักคน เป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย และแรงใจ หากวันไหนที่รู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ หมดหวัง เป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งสำคัญคือเราจะสามารถรับมือเพื่ออยู่กับมันต่อไปให้ได้ยังไงในแต่ละวัน การดูแลใครสักคนคือการส่งมอบความรักอย่างหนึ่ง แต่ในการส่งมอบความรักนั้นนอกจากส่งให้คนอื่นแล้วก็อย่าลืมที่จะส่งให้กับตัวเองด้วย ให้โอกาสตัวเองได้ผ่อนคลาย ได้พักผ่อน เมื่อเราพร้อมทั้งกายและใจแล้ว เราก็จะสามารถกลับมาทำหน้าที่ในการดูแลคนรักของเราได้เต็มที่ดังเดิม


Reference


Malika Brown. (2018). Dealing with Caregiver Guilt. caregiver.com/articles/dealing-caregiver-guilt/


ชาลินี สุวรรณยศ, & ดาราวรรณ ต๊ะปินตา. (2018). บทบาทพยาบาลในการลดภาระจากการดูแลผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม. Nursing Journal, 45(4), P.229–239.


วัจนา ลีละพัฒนะ และ สายพิณ หัตถีรัตน์. (2016). “เมื่อผู้ดูแลทำไม่ไหวแล้ว” (Working with caregiver burnout). www.hfocus.org/content/2016/06/12274


สุภาวดี ไชยชลอ. (2022). เป็นผู้ดูแลอย่างไร ให้ไม่ต้องรู้สึกแย่ : ปมปัญหาจากการดูแล ‘ผู้ป่วยเรื้อรัง’ ในครอบครัว. https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Kommentare


bottom of page