top of page

ทำอย่างไร เมื่อครอบครัวไม่ใช่ Safe Zone

อัปเดตเมื่อ 14 พ.ย. 2566

ไอติมเรนโบว์


ตั้งแต่เด็กๆเรามักจะเห็นกันผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ หนังสือ ที่นำเสนอเกี่ยวกับครอบครัวว่าจะต้องเป็นที่ที่มีความสุข อยู่แล้วอบอุ่นสบายใจ เมื่อพูดถึงภาพครอบครัวจะต้องเห็นภาพครอบครัวแสนสุข รักใคร่กลมเกลียวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา สีหน้าสมาชิกแต่ละคนมีแต่รอยยิ้ม แต่ในความเป็นจริงแล้วภาพความสุขและความอบอุ่นนั้น อาจจะไม่ได้เกิดกับทุกๆคนเพราะยังมีอีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกตรงข้ามจากที่กล่าวมา คือ รู้สึกว่าบ้านนั้นเป็นสถานที่ที่อยู่แล้วไม่มีความสุข รู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่กับครอบครัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอิสระในการคิดหรือการตัดสินใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าครอบครัวนั้นไม่ใช่ Safe Zone สำหรับเราเลย


Safe Zone คือ พื้นที่ที่ปลอดภัยทั้งทางความรู้สึก จิตใจ และทางร่างกาย เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกตัดสิน สามารถอยู่ได้โดยไม่สนสายตาหรือความรู้สึกผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ไม่ตำหนิหรือต่อว่าตนเอง และแน่นอนว่าบ้านหรือครอบครัวคือสิ่งที่เราอยู่ด้วยมาตั้งแต่เกิด เวลาเราจะไปเที่ยว ไปโรงเรียน ไปทำงาน จุดที่กลับมาอยู่เป็นที่ตั้งหลักเลยนั่นก็คือบ้านหรือครอบครัวของเรานั่นเอง ดังนั้นที่ที่เราอยู่ตั้งหลักเป็นประจำควรที่จะเป็น Safe Zone ที่ให้สมาชิกอยู่แล้วรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย เวลาเจอเรื่องไม่ดีหรือสิ่งร้ายๆ พื้นที่ตรงนี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่เยียวยาจิตใจให้เรากลับมาดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างคงไม่เหมือนกับที่เราวาดฝันไว้ เพราะอย่างที่กล่าวว่าครอบครัวนั่นไม่ใช่ Safe Zone สำหรับทุกคน ดังจะเห็นได้ในทุกวันนี้ เด็กมีการฆ่าตัวตายมากขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากครอบครัวที่กดดัน อยากให้ลูกเป็นไปตามความคาดหวังของตนเอง, เด็กหนีออกจากบ้านเพราะครอบครัวทำร้ายร่างกา ,มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว, พยายามที่จะทำยังไงก็ได้ให้หลุดออกมาจากครอบครัวให้ได้เพราะรู้สึกว่าอยู่กับครอบครัวแล้วไม่มีสิทธิได้เป็นตัวของตัวเอง หลายคนหนีออกไปอยู่กับเพื่อน บางคนโชคร้ายเจอเพื่อนที่พากันมั่วสุมพากันหาความสุขด้วยวิธีผิดๆ โดยการใช้สารเสพติด ทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว และสังคมตามมา แล้วจะทำยังไงดีล่ะ เมื่อรู้สึกว่าครอบครัวของเราไม่ใช่ Safe Zone แล้ว

1) เข้าใจและยอมรับในความเป็นตัวตนของเขา ไม่มีมนุษย์คนไหนที่เกิดมาสมบูรณ์แบบ ที่เขาเป็นแบบนี้อาจจะเกิดจากการที่เขาถูกเลี้ยงดูมาด้วยวิธีการเดียวกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เลยนำมาใช้กับเราโดยที่บางครั้งเขาอาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งวิธีการที่เขาใช้นั้นอาจจะล้าหลังไปแล้วถ้าเทียบกับในยุคปัจจุบัน แต่สุดท้ายเขาก็เป็นเขาเราคงจะเปลี่ยนความเป็นตัวเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนได้คือความคิดของเรา ว่าจะรับมือและอยู่กับสิ่งเกิดขึ้นอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราให้น้อยที่สุด

2) ปรับการสื่อสารในครอบครัว จากที่เคยใช้แต่อารมณ์ว่ากันไปมา ทำให้เกิดความรู้สึกแย่ใส่กัน อาจจะเริ่มเปลี่ยนมาใช้ในเรื่องของเทคนิคการสื่อสารแบบ I-message โดยวิธีการนี้สามารถเริ่มได้จากผู้พูดต้องจับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ จากนั้นบ่งบอกความรู้สึกของตนเอง แล้วจึงพูดในสิ่งที่เราต้องการอยากให้เขาทำ ตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ใช้คำพูดว่า “ไปไหนมา! ทำไมมาช้าขนาดนี้”ก็ปรับการสื่อสารโดยใช้ I-message โดยเริ่มที่ความรู้สึกของตัวฉัน คือ “ฉันเป็นห่วงนะที่เธอหายไปนานเลย ถ้าจะมาช้าเธอช่วยโทรบอกให้ฉันรู้หน่อยได้ไหม” พอเราเปลี่ยนคำพูดความรู้สึกของผู้ฟังก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เขาจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่เรามีต่อเขา ความรุนแรง ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง

3) หาพื้นที่ปลอดภัยอื่นๆที่รู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วสบายใจ อาจจะเป็นเพื่อน คนรัก สวนสาธารณะ หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อเป็น Safe Zone สำรองในวันที่เรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เราสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้มาพักสงบจิตสงบใจได้ เมื่อจิตใจของเรามั่นคงขึ้น เข้มแข็งขึ้น ค่อยกลับไปเผชิญสถานการณ์นั้นอีกครั้ง

4) เมื่อพบว่าปัญหานั้นส่งผลเสียต่อตนเอง และครอบครัว จนไม่สามารถที่จะจัดการกันได้แล้ว การพบผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาครอบครัวให้ดีขึ้นได้ โดยอาจจะมีการจัด Session ของ Family Therapy เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้มีโอกาสเปิดเผยพูดคุยถึงเรื่องราวในใจ สัมผัสถึงความรู้สึกของแต่ละฝ่าย และหาทางออกร่วมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความช่วยเหลือใน Sessionนั้น


การรู้สึกว่าครอบครัวไม่ใช่ Safe Zone นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เราสามารถเข้าใจและยอมรับความรู้สึกที่มีตรงนั้นได้ เพราะมันมีที่มาที่ไปที่ทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ สิ่งสำคัญคือเราจะจัดการกับความรู้สึกตรงนั้นอย่างไร เพื่อให้เราสามารถอยู่ต่อไปได้ การที่จะทำให้ครอบครัวนั้นเป็น Safe Zone ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในบ้านทุกๆคน เปิดใจรับฟังความคิดของกันและกัน เคารพในพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคน สร้างบรรยากาศของครอบครัวให้มีความสุข ถ้าทุกคนช่วยกันเชื่อว่าไม่นานความรู้สึกที่ว่าครอบครัวเป็นที่ที่อบอุ่นและปลอดภัยจะกลับมาและมาเป็น Safe Zone ให้กันและกันอีกครั้ง


Reference


Alljitblog. (2021a). Safe Zone คืออะไร? ไม่ใช่สถานที่ แต่คือ ความรู้สึก. https://www.alljitblog.com/?p=1838


Alljitblog. (2021b). บ้านไม่ใช่ Safe Zone ของทุกคน อาจจะเป็นสถานที่ทุกข์ใจแทน. https://www.alljitblog.com/


Pitchaporn Sittichoke. (2020). You vs I Message เทคนิคการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระชับความสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิด. https://www.psychbyside.com/post/you-vs-i-message


Sanook Reporter. (2022). ดราม่า รรชื่อดังย่านโคลี เด็กหญิงวัย 14 เจอปัญหาครอบครัว ครูกดดันซ้ำจนฆ่าตัวตาย. https://www.sanook.com/news/8561998/


Thai PBS News. (2021). พบ ด.ช.วัย 6 ขวบถูกคนในครอบครัวทำร้าย นำตัวส่งฟื้นฟูร่างกาย-จิตใจ. https://news.thaipbs.or.th/content/310425


The Bangkok Insight Editorial Team. (2022). เด็ก 5 ขวบหนีออกจากบ้านรอยช้ำทั่วตัวขอชาวบ้านช่วย. https://www.thebangkokinsight.com/news/politics-general/social/908392/

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page