top of page
ซุปมารีน

Highly Sensitive Person (HSP): สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความอ่อนไหวในตัวเอง

อัปเดตเมื่อ 14 พ.ย. 2566

ซุปมารีน


ในตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก ป้ายที่คอเสื้อมักจะเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของฉัน ความคันและอาการแสบร้อนของป้ายที่เสียดสีกับผิวหนังตลอดเวลาทำให้ฉันแทบทนไม่ได้ เมื่อโตขึ้นฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นคนขี้กังวล และมักหลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหรือมีเสียงดัง ฉันไม่ชอบนั่งในที่ที่ใช้ไฟสีขาวสว่างจ้า เพราะมันมักทำให้ฉันรู้สึกไม่สบายกายและไม่สบายใจ และบ่อยครั้งที่ฉันรู้สึกซาบซึ้งจนน้ำตาไหลกับความสวยงามของทัศนียภาพ ข้อความในหนังสือ บทกวี และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต


ดร. เอเลน แอรอน เป็นนักจิตวิทยาที่เริ่มศึกษาบุคลิกภาพแบบอ่อนไหวง่าย (Highly Sensitive) เมื่อปี 1991 และเธอได้ให้แนวคิดคำว่า Highly Sensitive Person (HSP) ว่าหมายถึง บุคคลมีระบบประสาทส่วนกลางกลางที่สามารถในการครุ่นคิดหรือประมวลผลต่อสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบกับผัสสะต่าง ๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งกว่าปกติ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่มีความไวต่อการประมวลผลข้อมูล (Sensory Processing Sensitivity) บุคคลที่มีบุคลิกภาพนี้สามารถรับรู้หรือสังเกตได้ถึงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นเหมือนฟองน้ำที่สามารถซึมซับบรรยากาศและความรู้สึกต่างๆ และสิ่งเร้าที่มากระทบได้ง่าย นอกจากนี้พวกเขาจะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม HSP ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีโรคทางจิตเวชหรือโรคทางพันธุกรรม หรือเป็นโรคที่ต้องรักษาให้หายขาด


ใช่ -- ฉันมีบุคลิกภาพแบบอ่อนไหวง่าย หรือ Highly Sensitive Person (HSP) และฉันก็หวังว่าจะรับรู้เร็วกว่านี้เพื่อที่ฉันจะได้ไม่รู้สึกว่าตนเองผิดปกติและสามารถรับมือความอ่อนไหวในตนเองได้ดียิ่งขึ้น และนี่คือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้และรับมือกับการเป็น HSP


1. โอบรับและยอมรับความอ่อนไหวในตนเอง– การอ่อนไหวต่อความรู้สึกไม่ใช่เรื่องที่น่าอายที่ต้องพยายามปกปิดหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นคนเข้มแข็ง แต่ขอให้ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง แต่เมื่อใดที่รู้สึกท่วมท้นเกินไปลองหาวิธีที่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกและความไม่สบายใจของตนเองในเชิงที่สร้างสรรค์และจรรโลงใจ เช่น วาดรูประบายสี เขียนบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ปรึกษากับเพื่อนสนิท เพื่อจจัดการให้อารมณ์และความรู้สึกท่วมท้นนั้นเบาลง


2. เรียนรู้และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น– เรียนรู้สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่พึงประสงค์เพื่อที่จะทำให้เราสร้างความสุขให้ตนเองได้มากขึ้น และเรียนรู้สิ่งกระตุ้นไม่พึงประสงค์เพื่อลดผลกระทบที่อาจสร้างปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ดูหนังผีแล้วรู้สึกคลื่นไส้และไม่สบายใจ ลองเปลี่ยนประเภทหนังที่ดูหรือเปลี่ยนบรรยากาศโดยการชวนเพื่อนมาดูด้วยกันเพื่อทำให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น

3. ดูแลตนเองและกำหนดขอบเขตเรื่องต่างๆ ในชีวิต – การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและทำกิจวัตรที่ตนชอบเพื่อช่วยบำรุงและฟื้นฟูจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อใดที่รู้สึกเครียดหรือมีเรื่องกังวลใจ ลองหาสาเหตุและขีดเส้นแบ่งกำหนดขอบเขตระหว่างปัญหากับตัวเรา เช่น เมื่อรับข้อมูลและข่าวสารบนโลกออนไลน์มากเกิน จนเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและเครียด ลองจำกัดปริมาณการอยู่บนหน้าจอหรือพักจากการเสพข่าว และถ้าเมื่อใดรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกหรือมีความเครียดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักให้คำปรึกษา เพื่อที่ดูแลตนเองไม่ให้เกิดความเครียดมากจนไม่มีความสุข


ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมที่มองความอ่อนไหวเป็นข้อเสีย มองการร้องไห้ว่าคือการแสดงถึงความอ่อนแอ มองการระงับอารมณ์ และข่มกลั้นความรู้สึกเศร้าเป็นการกระทำที่เข้มแข็ง แต่ความเปราะบางและอารมณ์ที่อ่อนไหวของทุกคนไม่ใช่หรือที่ทำให้โลกนี้สวยงามและน่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็น HSP หรือไม่ ขอให้คุณโอบรับความเปราะบางของตนเองและสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์และความรู้สึกให้กันและกัน


Reference


What Is a Highly Sensitive Person (HSP)?. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/highly-sensitive-persons-traits-that-create-more-stress-4126393


ทำความรู้จักคนที่มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (Highly Sensitive Person) และความจำเป็นต่อวิวัฒนาการมนุษย์. Retrieved from. https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/highly-sensitive-person-01


อ่อนไหวง่าย ไวต่อความรู้สึก คุณอาจเป็น Highly Sensitive Person (HSP). Retrieved from. https://www.istrong.co/single-post/highly-sensitive-person-hsp

ดู 51 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page